สพ.ญ.พิไลลักษณ์ หงษ์ไทย
พฤติกรรมที่มักจะสร้างปัญหา ให้กับเจ้าของสุนัขที่พบบ่อยๆ
ก็มีอยู่ 3-4 เรื่อง ด้วยกันค่ะ เริ่มตั้งแต่ พฤติกรรมการกิน,
การขับถ่าย, การกัดทำลายข้าวของ ไปจนถึงพฤติกรรมก้าวร้าว
ไปดูกันทีละเรื่องเลยนะคะ
พฤติกรรมการกิน
ไม่กินอาหารสุนัข
เรื่องนี้พบบ่อยมากค่ะ เจ้าของแทบจะทุกท่านเลยล่ะค่ะ ที่มักจะบ่นให้หมอฟังว่า
เค้าไม่กินอาหารสุนัข จะกินอาหารของคน ความจริงแล้วลูกสุนัขจะมีพัฒนาการ
ในเรื่องความชอบ ในรสชาติของอาหาร ไปจนถึงอายุ 6 เดือน ในช่วงนี้
เค้าจะสามารถเรียนรู้รสชาติอาหารได้อย่างรวดเร็ว เมื่อไรที่ไปนั่งข้างโต๊ะอาหาร
ทำตาละห้อย ส่งเสียงครางอิ๋งอิ๋ง จนได้รับอาหารกลับมาแล้ว
แน่นอนค่ะเค้าก็สามารถเรียนรู้ ที่จะมีพฤติกรรมอย่างนี้ไปได้เรื่อยๆ
บางตัวก็กินจนอิ่ม พอถึงเวลาอาหารตัวเอง ก็ไม่อยากกิน เจ้าของก็เริ่มรู้สึกกังวลใจ
ที่สุนัขทานอาหารได้น้อย บางตัวเรียนรู้ที่จะคอยให้ถึงเวลาอาหารของคนด้วยค่ะ
เพราะเค้ารู้ว่า เมื่อไรที่คุณๆ เจ้าของ ได้สบสายตาบ้องแบ๊ว
ของเค้าแล้วล่ะก็ต้องยอมใจอ่อน แบ่งอาหารบนโต๊ะให้แน่นอน
นอกจากนี้การที่สุนัขบางตัวกินน้อย ก็อาจจะเนื่องมาจาก เค้ามีกิจกรรม
ที่ต้องใช้พลังงานน้อย ดังนั้นจึงกินน้อยตามไปด้วย
ชอบกินอึ
ลูกสุนัขที่กินอึตัวเอง หรืออึของตัวอื่นในครอกเดียวกัน
ไม่ใช่เรื่องผิดปกติแต่อย่างใดค่ะ อาจจะเป็นวิธีการหนึ่งในการสำรวจสิ่งแวดล้อมรอบๆ
ตัว แต่คุณๆ เจ้าของ คงไม่สบายใจนัก มีคนช่างสังเกตพบว่า
พฤติกรรมกินอึของลูกสุนัขนี้ มักจะพบในลูกสุนัขที่ไม่ค่อยได้มีโอกาสออกกำลังกาย
อยู่ในสภาพแวดล้อมที่แห้งแล้ง ไม่ค่อยมีต้นไม้ใบหญ้า โดยมากก็มักจะเป็นพันธุ์เล็กๆ
ที่เลี้ยงในคอนโดหรือบ้านที่มีพื้นที่จำกัด วิธีแก้ไขก็ไม่ยุ่งยากค่ะ
อาจจะใช้วิธีเก็บอึออกให้หมด หรือ เปลี่ยนแปลงกลิ่น, รสชาติของอึ
โดยการโรยพริกไทย พริกป่น น้ำมัน หรือเหล้าสะระแหน่ อย่างใดอย่างหนึ่งลงไป
ก็จะทำให้ได้กลิ่น & รสชาติที่ลูกสุนัขไม่ชอบ ทำบ่อยๆ
ก็จะเลิกกินไปเองค่ะ ลูกสุนัขบางตัวไม่กินอึสุนัขด้วยกันค่ะ
แต่ชอบกินอึแมว เนื่องจากจะมีโปรตีนปะปนอยู่มาก ในสายตาและจมูกอันซุกซนของ
เจ้าตูบแล้ว มันช่างดึงดูดใจเหลือเกิน ไม่กินไม่ได้แล้ว
วิธีการแก้ไขก็ให้แมวอึในกระบะทราย ที่ลูกสุนัขปีนขึ้นไปกินไม่ถึงค่ะ
หรือจะใช้วิธีเปลี่ยนกลิ่นและรสชาติอึ ก็ได้เช่นกันค่ะ
กินหญ้า
หลายท่านคงเคยเห็นลูกสุนัขกินหญ้า และอาเจียนอยู่บ่อยๆ
ไม่ใช่เรื่องผิดปกติอีกเหมือนกันค่ะ เพราะเดิมทีที่สุนัขบ้านยังเป็นสุนัขป่านั้น
สุนัขก็เป็นสัตว์ที่กินผัก กินหญ้าเหมือนกันค่ะ แต่ไม่ได้กินเองโดยตรงค่ะ
เค้าจะล่าพวกกวาง หรือกระต่ายซึ่งเป็นสัตว์ที่กินพืช เวลากินสัตว์พวกนี้เป็นอาหาร
สุนัขก็จะได้รับพืชผักเข้าไปด้วย จากทางเดินอาหารของสัตว์เหล่านี้
ซึ่งพืชผักเหล่านี้ได้ผ่านขบวนการย่อยไปแล้วบางส่วน ในขณะที่หญ้าที่สุนัขบ้านกินเข้าไปเอง
เนื่องจากในอาหารที่เราให้ มีเยื่อใยไม่เพียงพอนั้น ร่างกายสุนัขไม่มีน้ำย่อยที่จะมาย่อยพืชผักเหล่านี้ได้
ทำให้เกิดการระคายเคืองกระเพาะอาหาร ส่งผลให้อาเจียนตามมา
เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหานี้ เราอาจจะหาโอกาสเติมพืชผัก ที่ทำให้สุกแล้ว
ลงไปในอาหารที่เค้ากินเป็นประจำอยู่แล้วก็ได้ค่ะ
พฤติกรรมการขับถ่าย
การขับถ่ายที่สร้างปัญหาให้กับเจ้าของสุนัขก็เนื่องจาก
ลูกสุนัขขับถ่ายไม่เป็นที่เป็นทาง จริงๆ แล้วเรื่องนี้
เราสามารถฝึกกันได้ค่ะ เริ่มฝึกกันได้ ตั้งแต่ลูกสุนัข
มีอายุได้ประมาณ 2 เดือน การลงโทษมักจะไม่ได้ผล ลูกสุนัขก็เหมือนกับคนเรานั่นแหละค่ะ
ชอบการแสดงความชื่นชมมากกว่าการถูกดุด่า ดังนั้นเราก็ควร
ให้กำลังใจและชมเชย เมื่อเค้าสามารถขับถ่ายในบริเวณที่เรากำหนดได้
ระยะเวลาที่ใช้ในการฝึกฝน คงจะไม่เท่ากันในลูกสุนัขแต่ละตัว
เนื่องจากความสามารถ ในการเรียนรู้นั้นเร็วช้าต่างกัน
ดังนั้นจึงต้องใช้ความอดทนเป็นอย่างมาก ควรให้โอกาสเค้าได้เรียนรู้ใหม่
แม้ว่า จะคว้าน้ำเหลวไปหลายครั้งหลายคราว รวมทั้งควร จะใช้วิธีการฝึกฝนแบบเดียว
เป็นระยะเวลานานพอควร เพราะถ้าเปลี่ยนวิธีการทุก 2-3 วัน
คงยากที่จะประสบผลสำเร็จ เนื่องจากลูกสุนัขจะรู้สึกสับสน
แทนที่จะได้ เรียนรู้วิธีการเดิมต่อไป นอกจากนี้ถ้าเจ้าของต้องทิ้งเค้าไว้ตามลำพัง
ควรจำกัดบริเวณไว้ด้วยค่ะ ถ้าทิ้งเค้าไปไม่นานมาก ก็อาจให้อยู่ในกรงก่อน
แต่ถ้านานถึง ครึ่งค่อนวัน คงต้องเพิ่มพื้นที่ให้มากกว่าเดิม
เนื่องจากสุนัขคงไม่สามารถกลั้นปัสสาวะได้นานเป็นวัน เพราะขนาดของกระเพาะปัสสาวะ
ที่ค่อนข้างเล็กนั่นเองค่ะ สุดท้ายก็คือ ต้องฝึกกันอย่างเข้มงวด
เป็นตารางเวลากันเลยทีเดียว โดยการพาสุนัขไปในบริเวณที่ต้องการให้เค้าขับถ่าย
ทุกครั้งหลังตื่นนอน หลังกินอาหาร หลังออกกำลัง และก่อนเข้านอน
ถ้าปฏิบัติได้ตามนี้รับรองว่า ได้ผลดีแน่นอนค่ะ
ชอบกัดทำลายสิ่งของ
แรกเริ่มเดิมที เค้าก็ไม่ได้กัดข้าวของก่อนหรอกค่ะ แต่จะเริ่มจากการกัด
หู หน้า และหางของลูกสุนัขในครอกเดียวกันก่อน จนอายุประมาณหนึ่งเดือน
ก็จะเริ่มเปลี่ยน จากกัดลูกสุนัขด้วยกัน มากัดข้าวของ
เนื่องจากเป็นการสำรวจสิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัว ไม่ว่าจะเป็นพรมเช็ดเท้า
ผ้าเช็ดตัว สายไฟฟ้า สายโทรศัพท์ หรือขากางเกง ประกอบกับ
เป็นช่วงที่ฟันเริ่มโผล่พ้นเหงือกอีกด้วยค่ะ ส่วนใหญ่แล้วพฤติกรรมแบบนี้
จะหมดไปเมื่อโตเต็มที่ คือ ที่อายุประมาณ 1 ปี ยกเว้นบางตัว
ซึ่งอาจจะเป็น สุนัขที่ไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย ซึ่งมีพลังงานเหลือเฟือจากการกิน
ก็เลยต้องหาทางระบายเอาพลังงานออกไป วิธีบรรเทาความเสียหาย
ของสิ่งของในบ้านนั้น คุณๆ เจ้าของก็อาจจะต้องจัดหาสิ่งของมาให้กัดแทะ
โดยเฉพาะที่สำคัญไม่ควรให้มีเกิน 1-2 ชิ้น เนื่องจากจะช่วยให้เค้าจำแนกได้ว่า
สิ่งนั้นเป็นของเค้าให้กัดแทะได้ นอกจากนี้ ไม่ควรให้เหมือนกับสิ่งของ
ที่เราไม่ต้องการให้กัดด้วยค่ะ เช่น รองเท้าเก่าลูกสุนัขไม่สามารถแยกแยะ
จากรองเท้าดีๆ ได้ค่ะ จะใช้ของเล่นเด็กๆ ก็ไม่ผิดกติกา
ยิ่งถ้ามีอยู่แล้วไม่ต้องซื้อหาใหม่ ก็ประหยัดเข้ากับยุคสมัยได้พอดี
ในกรณีที่เ จ้าของไม่ได้อยู่ดูแลตลอด ควรจำกัดบริเวณและวางของเล่นไว้ให้เค้า
ด้วยนะคะ ส่วนลูกสุนัขบางตัวที่ชอบกัดแทะเฟอร์นิเจอร์
อาจใช้วิธีการเดียวกับการแก้ปัญหาเรื่องการกินอึก็ได้ค่ะ
พฤติกรรมก้าวร้าว
พฤติกรรมก้าวร้าว หรือที่เราเรียกกันง่ายๆ ว่าสุนัขดุนั้น
ในลูกสุนัขจะต่างจากสุนัขที่โตแล้วค่ะ บางครั้งเกิดจากความเจ็บปวด
หรือเกิดจากการแสดงความเป็นผู้นำ กับลูกสุนัขตัวอื่นๆ
ในครอก ส่วนความก้าวร้าวในระเบียบวินัย ยังไม่ยอมรับความเป็นผู้นำของเจ้าของ
เช่น กัดเจ้าของเวลาที่ถูกแย่งสิ่งของที่ขโมยมากลับคืนไป
ยกชามอาหารออกไป หรือปล่อยให้อยู่บ้านทำหน้าที่เป็นยามตามลำพังเป็นต้น
วิธีฝึกเพื่อลดความก้าวร้าวก็ทำได้ง่ายๆ ค่ะ ลองเอาชามข้าวของเค้าออกมา
ถ้าเค้าเห่า หรือพยายามกัด ให้ถือชามไว้ก่อนจนกว่าเค้าจะหยุด
อาจจะใช้วิธีจับปากไว้ หรือประคองช่วงอกไว้จนกว่าเค้าจะยอมสงบลง
จึงให้ชามอาหาร ส่วนความก้าวร้าว ในสถานการณ์อื่นๆ ก็ใช้หลักการเดียวกันค่ะ
คืออะไรก็ตาม ที่เค้าไม่ชอบ ไม่พอใจ ให้เราทำซ้ำๆ จนกว่าเค้าจะยอมรับได้
บางครั้งความก้าวร้าวก็เกิดเนื่องจาก ความรักของเจ้าของนั่นเองค่ะ
ลูกสุนัขอายุประมาณ 1 เดือน จะเริ่มกัดลูกสุนัขในครอกเดียวกัน
ตัวที่เจ็บจะร้องและหยุดเล่น ส่วนตัวที่กัดก็จะเรียนรู้ว่า
แรงกัด ขนาดไหนที่จะทำให้ตัวอื่นเจ็บและหยุดเล่น หลักการนี้เราก็นำมาปรับใช้ได้ค่ะ
แต่เจ้าของมักจะอดทนกับการกัดของลูกสุนัขเพราะเห็นเป็นความน่ารัก
น่าเอ็นดู ลูกสุนัขเค้าก็จะเรียนรู้ค่ะว่าแรงกัดขนาดนี้เจ้าของยังไม่เจ็บ
ดังนั้นต่อไปสุนัขก็อาจจะกัดแรงขึ้นไปอีก จนเกิดการบาดเจ็บที่รุนแรงกับเจ้าของได้
วิธีการแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงที่นำสมาชิกใหม่เข้ามานี้
คงจะช่วยให้คุณๆ เจ้าของคลายความกังวล และรับมือกับปัญหาได้บ้างนะคะ
เมื่อปัญหาต่างๆ เหล่านี้ได้รับการแก้ไขแล้ว เราก็จะได้เห็นความน่ารัก
น่าชัง และการเป็นสมาชิกที่ดีตัวหนึ่งของครอบครัวกันเลยล่ะค่ะ
หลายๆ ท่าน มักจะถือเอาช่วงปีใหม่ เป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง
หรือทำอะไรใหม่ๆ ในทิศทางที่ดีขึ้น ไม่ว่า เหตุการณ์บ้านเมืองตอนนี้จะเป็นไปอย่างไร
ก็ขออวยพรให้ทุกๆ ท่านที่คิดดี ทำดีอยู่แล้ว และกำลังจะเริ่มต้นทำ
สามารถฝ่าฟันอุปสรรคนานัปการไปได้ รวมทั้งแคล้วคลาดปลอดภัยจากภยันตราย
และโรคภัยไข้เจ็บ ด้วยนะคะ
|