พยาธิในทางเดินอาหารเจ้าตูบ

สพ.ญ.พิไลลักษณ์ หงษ์ไทย

พ-ย-า-ธิ (อ่านว่า พะ-ยาด) แต่ละคนที่ได้ยินชื่อนี้ ก็คงนึกถึงสิ่งมีชีวิต ที่มีรูปร่างหน้าตาไม่น่าพิสมัยสักเท่าไร ที่สำคัญ ยังเป็นอีกตัวการหนึ่ง ที่คอยบั่นทอนสุขภาพของทั้งคนเรา และสัตว์เลี้ยงด้วย ก่อนที่จะไปดูกันว่าในทางเดินอาหารของเจ้าตูบ มีพยาธิชนิดไหน หน้าตาอย่างไรอาศัยอยู่บ้าง เรามาทำความรู้จักและรู้ใจพยาธิให้มากขึ้นอีกนิดดีกว่านะคะ

แรกเริ่มเดิมทีเจ้าสิ่งมีชีวิตพวกนี้ ก็ใช้ชีวิตอยู่เป็นอิสระค่ะ ไม่ได้ไปฝากชีวิตไว้กับใครที่ไหน เหมือนอย่างทุกวันนี้ ต่อมาก็อยากมีชีวิตที่ดีขึ้น ไม่อยากเร่ร่อนไปไหนต่อไหน ก็เลยเลือกเอาสิ่งมีชีวิตอื่นเป็นบ้าน เป็นที่อาศัย กินอยู่ หลับนอนเสร็จสรรพ พยาธิบางชนิดก็เลือกมากหน่อย ชอบเจ้าของบ้านที่เป็นคน หมา แมว หรือสัตว์ชนิดใด ชนิดหนึ่งเท่านั้น ในขณะที่บางชนิดก็เอาง่ายๆ เข้าว่า ใครก็ได้ผ่านมาเป็นได้หมด เมื่อได้ที่อาศัยที่ทำกิน (คงกินอย่างเดียวมากกว่า) สบายขนาดนี้แล้วจะให้กลับไป ใช้ชีวิตอย่างเดิมก็คงยาก จริงๆ แล้วพยาธิก็ไม่ใช่นักฆ่าหน้าหยก หรือนักล่าเหยื่อตัวฉกาจซะทีเดียวหรอกนะคะ

ปกติแล้วพยาธิ มักจะมีขนาดเล็กกว่าสิ่งมีชีวิตซึ่งเป็นบ้านที่พยาธิเข้าไปอาศัยอยู่เสมอ เค้าต้องการอาหารเพื่อความอยู่รอด เพื่อดำรงเผ่าพันธุ์ไม่ให้หมดไปจากโลก เหมือนไดโนเสาร์ และจะไม่พยายามทำลายสภาพแวดล้อม บริเวณที่เป็นแหล่งอาหารของเค้าอีกด้วย สมัยก่อนคนในโลกก็ไม่มากมายเท่าทุกวันนี้ พยาธิต้องใช้ ความพยายามสูงมาก ในการหาบ้านแต่ละครั้ง ตรงกันข้ามกับปัจจุบัน ผู้คนอยู่กันอย่างหนาแน่น แออัด การขยายเผ่าพันธุ์หรือหาที่อยู่ใหม่ ไม่ใช่เรื่องยุ่งยาก อีกต่อไป รู้จักภูมิหลังของพยาธิพอสังเขปแล้ว คราวนี้เราไปดูกันว่าในทางเดินอาหารของสุนัขมีพยาธิชนิดไหนบ้าง ที่พบว่า เป็นสาเหตุทำให้เกิดความเจ็บป่วย ในสุนัขอยู่บ่อยๆ

พยาธิไส้เดือน
ตัวกลมๆ ยาวๆ คล้ายไส้เดือน เป็นรูปร่างของพยาธิชนิดนี้ ครั้งแรกที่เราอุ้มเจ้าตูบไปถ่ายพยาธิกันตอนเด็กๆ อายุประมาณ 1 เดือน คุณหมอก็จะให้กินยา เพื่อถ่ายพยาธิชนิดนี้แหละค่ะ หลายๆ ท่านสงสัยและไม่ลังเลที่จะถามว่า แล้วเจ้าตูบไปติดพยาธิมาจากไหนคะหมอ อายุก็น้อยนิด แถมยังไม่เคยออกไปพ้นชายคาบ้าน ด้วยซ้ำไป ก็ติดมาจากแม่เค้านั่นแหละค่ะ หลังคลอดลูกแล้วแม่ต้องให้นมลูก เจ้าพยาธิไส้เดือนก็จะอพยพตัวเองไปใช้เส้นทางใหม่ ผ่านทางน้ำนมเข้าสู่ตัวลูกได้เช่นกัน คุณหมอก็เลยต้องถ่ายพยาธิชนิดนี้ให้กับเจ้าตูบ ด้วยประการฉะนี้แหละค่ะ นอกจาก 2 วิธีการ ที่เล่ามาแล้ว สุนัขยังติดพยาธิโดยการกินไข่พยาธิ (ซึ่งปนมากับ อุจจาระของสุนัขที่ติดพยาธิ) หรือโดยการกินสัตว์ชนิดอื่น ที่ติดพยาธิชนิดนี้โดยบังเอิญ เจ้าตูบที่มีพยาธิชนิดนี้ ตั้งรกรากอยู่ในลำไส้ จะมีลักษณะที่สังเกตง่ายๆ คือ พุงป่อง แคระแกรน ขนหยาบกระด้าง ท้องเสีย อาเจียน บางครั้งในอุจจาระ หรือของเก่าที่อาเจียนออกมา อาจจะพบพยาธิปนออกมาด้วย การมีพยาธิจำนวนมากๆ จะทำให้เกิดการอุดตันของทางเดินอาหาร เกิดการระคายเคือง จนเป็นสาเหตุให้เกิดลำไส้กลืนกัน หรือบางครั้งก็ถึงกับเกิดลำไส้ทะลุได้ อยู่ในลำไส้นานๆ ก็เบื่อพยาธิไส้เดือนก็เลยเริ่มออกทัวร์ สถานที่โปรดปรานก็คือ ปอดของลูกสุนัข การไชผ่านของพยาธิก็จะทำให้ปอดเสียหาย และเกิดการอักเสบรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ พยาธิชนิดนี้อันตรายมากในลูกสุนัข ควรป้องกันก่อนที่จะสายเกินแก้นะคะ ส่วนจะแก้ไขและป้องกันอย่างไร ต้องติดตามต่อไปค่ะ

พยาธิปากขอ
ได้ชื่อมาอย่างนี้ ก็เพราะลักษณะปากของพยาธิชนิดนี้ จะมีฟันที่มีลักษณะเหมือนตะขอ มีหน้าที่คอยเกาะเกี่ยวหนังลำไส้ และดูดเลือด การติดพยาธิชนิดนี้ นอกจากจะติดได้ โดยวิธีการเช่นเดียวกับพยาธิไส้เดือนแล้ว ยังสามารถติดได้ โดยการกินเอาตัวอ่อนของพยาธิ (พยาธิในวัยเด็ก) เข้าไป หรือไม่ตัวอ่อน ก็ไชผ่านผิวหนังเข้าไปได้ ซึ่งทั้ง 2 วิธีนี้ พบได้บ่อยมาก อันตรายจากการพยาธินี้ ก็คือ การที่พยาธิดูดเลือด และของเหลวจากเนื้อเยื่อของร่างกายเจ้าของบ้าน เจ้าตูบจะมีอาการถ่ายเป็นเลือด ซีด อ่อนเพลีย ผอมแห้ง ร่างกายขาดน้ำ การขาดเลือดอย่างรุนแรง ทำให้ลูกสุนัขเสียชีวิตได้ ส่วนสุนัขโต มักไม่ค่อยพบ อาการผิดปกติถึงขั้นรุนแรง

พยาธิแส้ม้า
เพียงรูปร่างเท่านั้นนะคะ ที่บังเอิญไปพ้องรูปเข้ากับแส้ม้า อันตรายไม่ได้เกิดจาการใช้แส้เฆี่ยนตีเจ้าตูบ พยาธิชนิดนี้ชอบโลเกชั่นแถวๆ ลำไส้ใหญ่ หลังจากนั้น มันฝังลงไปที่ผนังลำไส้ ก็จะตั้งหน้าตั้งตาดูดเลือดจากเจ้าของบ้าน นอกจากจะเสียเลือดแล้ว ยังเสียเนื้ออีกด้วย เพราะจะทำให้เกิดการอักเสบของผนังลำไส้ด้วย เจ้าตูบติดพยาธิโดยการกินไข่พยาธิชนิดนี้เข้าไป ความสำคัญของพยาธิชนิดนี้นอกจากอันตรายแล้ว ยังทรหดอดทนอย่างน่าชื่นชม เพราะสามารถมีชีวิตอยู่ที่พื้นดิน หรือสนามในบ้านเราได้ถึง 4-5 ปี ไม่ต้องบอกต่อ ก็คงพอนึกออกว่าจะเกิดอะไรขึ้นตามมา

พยาธิเส้นด้าย
เป็นพยาธิตัวกลมขนาดเล็กๆ ค่ะ เจ้าตูบติดได้โดยการกินตัวอ่อนของพยาธิ หรือตัวอ่อนไชผ่านทางผิวหนัง ความรุนแรงมักเกิดกับลูกสุนัข เช่นเดียวกับพยาธิชนิดอื่น โดยจะทำให้เกิดลำไส้อักเสบ แบบมีเลือดออกอย่างเฉียบพลัน อาจถึงแก่ชีวิตได้

พยาธิตัวแบน
ที่พบบ่อยๆ ก็ได้แก่ พยาธิเม็ดแตงกวา โดยมีพาหะของพยาธิ เป็นหมัดและเหาอีกที พยาธิตัวแบนตัวอื่นๆ อาจจะไม่คุ้นหูนักเรียกรวมๆ เป็นกลุ่มนี้จะเข้าใจง่ายกว่านะคะ ส่วนใหญ่ไม่ค่อยรุนแรงมาก ทำให้ร่างกายไม่แข็งแรงสมบูรณ์เท่าที่ควร บางชนิด เช่น พยาธิเม็ดแตงกวา จะทำให้เกิดการคันบริเวณก้น เนื่องจากปล้องของพยาธิ สามารถเคลื่อนไหวได้ ถ้าเจ้าของสังเกตสักหน่อย จะเห็นว่า สุนัขจะชอบเอาก้นไปถูไถกับพื้นอยู่บ่อยๆ

จะรู้ได้อย่างไรว่าเจ้าตูบติดพยาธิ

หลายครั้งที่เจ้าของพบเห็นตัวพยาธิออกมาจากตัวสุนัขเอง หรือไม่ก็ดูจากอาการเจ็บป่วยของสุนัข แล้วยืนยันผลจากการตรวจอุจจาระของเจ้าตูบ ซึ่งถ้าเจ้าตูบติดพยาธิจริง ก็จะมีไข่พยาธิปนมากับอุจจาระด้วย

การเยียวยา
ชนิดของยาและวิธีการรักษาก็จะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับชนิดของพยาธิ และสภาพร่างกายของเจ้าตูบในขณะนั้น การรักษาตั้งแต่เนินๆ ย่อมให้ผลดีกับสุนัข เช่นเดียวกับความเจ็บป่วยจากสาเหตุอื่นๆ เช่นกันค่ะ

ตัดไฟแต่ต้นลม
ถ้าลองย้อนกลับไปดูวิธีการติดพยาธิแต่ละชนิด คงจะพอมองออกว่า เราจะป้องกันการติดพยาธิได้อย่างไรบ้าง เริ่มตั้งแต่การกำจัดอุจจาระของสุนัข อย่างเหมาะสม ใช้น้ำยาฆ่าเชื้อกับบริเวณที่สุนัขชอบวิ่งเล่น และที่อยู่หลับนอน การกำจัดพาหะของพยาธิบางชนิด เช่น หมัดและเหา ถ่ายพยาธิแม่สุนัข ก่อนการผสมพันธุ์ หรือก่อนคลอด และตรวจอุจจาระและถ่ายพยาธิเป็นประจำอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง ไม่ยากเลยใช่มั้ยคะ ที่จะให้เจ้าตูบร่าเริง แจ่มใส ในร่างกาย ที่ปราศจากพยาธิทั้งขบวน !

Copyright 2002 by bokbokclub.cjb.net All rights reserved Email K_chananyu@yahoo.com