การถ่ายเลือดในสุนัข

ตูบตัวน้อยๆ น่ะไม่มีใครเหมือน แล้วก็ไม่เหมือนใครอยู่แล้ว ตูบน้อยเต็มไปด้วยชีวิตชีวา เป็นนักสำรวจที่ชอบเรียนรู้สิ่งต่างๆ ในบางครั้งที่สุนัขป่วย ต้องเข้ารับการรักษาตามคลีนิก หรือโรงพยาบาล มักจะมีอาการป่วยด้วยภาวะโลหิตจาง ซึ่งอาจเกิดเนื่องมาจากการเสียเลือด (เช่น จากอุบัติเหตุ การผ่าตัด) ภาวะไตวายเรื้อรัง ภาวะเม็ดเลือดแดงแตกตัว ความผิดปกติที่ไขกระดูก ฯลฯ การถ่ายเลือดจึงเป็นทางหนึ่งที่จะช่วยยืดอายุของสัตว์ออกไปได้

ปัจจุบันการถ่ายเลือดในสุนัขนั้นทำกันน้อยมากในเมืองไทย อันเนื่องมาจากสาเหตุหลายประการ เช่น ขาดแคลนสุนัขที่มีคุณสมบัติดีพอที่จะบริจาคเลือด ขาดอุปกรณ์และสถานที่ซึ่งมีอุปกรณ์พร้อมที่จะทำการรับและถ่ายเลือด ขาดผู้ชำนาญการในการทำการถ่ายเลือด ฯลฯ สิ่งเหล่านี้จึงมักเป็นสาเหตุให้สัตว์ป่วยหลายๆ ราย ต้องจบชีวิตลงไปอย่างน่าเสียดาย

สำหรับสุนัขนั้นจะมีเลือดทั้งหมด 8 กลุ่มด้วยกัน แบ่งเป็น DEA 1.1, 1.2 และ DEA 3-8 คำว่า DEA ย่อมาจาก Dog Erythrocyte Amtigen ในการบริจาคเลือดนั้น สุนัขที่ตรวจพบว่ามีกลุ่มเลือด DEA 1.1 ไม่ควรนำมาใช้เป็นผู้บริจาค เพราะเลือดของสุนัขกลุ่มนี้จะมีคุณสมบัติทำให้ร่างกายของสุนัขผู้รับเลือดสร้างภูมิต้านทาน (Antibody) ขึ้นมาได้ง่าย ซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหาอย่างมากถ้าจะต้องทำการถ่ายเลือดซ้ำเป็นครั้งที่สอง ส่วนเลือดกลุ่ม DEA 1.2 และ DEA 7 ก็มีคุณสมบัติคล้ายกับ DEA 1.1 แต่ให้ผลรุนแรงน้อยกว่า ดังนั้นการตรวจกรุ๊ปเลือดเพื่อค้นหาว่าสัตว์มี DEA 1.1 อยู่หรือไม่ จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง ปัจจุบันได้มีบริษัทต่างประเทศผลิตชุดทดสอบหมู่เลือด DEA 1.1 ขึ้น ทำให้ลดความเสียหายในการถ่ายเลือดไปได้มาก แต่ติดปัญหาอยู่ที่ราคายังค่อนข้างแพง

โดยทั่วไป ในสุนัขหนัก 1 กิโลกรัม จะมีเลือดอยู่เฉลี่ย 88 ซีซี ซึ่งเราต้องการเลือดแค่ประมาณ 20 ซีซี/กิโลกรัม และในการถ่ายเลือดแต่ละครั้งควรให้ได้เลือดอย่างน้อย 500 ซีซี ดังนั้น น้ำหนักของสุนัขผู้บริจาคจึงไม่ควรต่ำกว่า 25 กิโลกรัม ส่วนในการบริจาคเลือดแต่ละครั้งควรห่างกันอย่างน้อย 3 สัปดาห์ ในการคัดเลือกสุนัขที่จะบริจาคนั้น ควรมีคุณสมบัติดังนี้
1. ควรมีน้ำหนักไม่ต่ำกว่า 25 กิโลกรัม (ขนาดยิ่งใหญ่ ยิ่งดี)
2. สุขภาพแข็งแรง ไม่ป่วยเป็นโรคติดต่อ เช่น พยาธิเม็ดเลือด พยาธิหนอนหัวใจ ฯลฯ และได้รับการฉีดวัคซีน และถ่ายพยาธิเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
3. เป็นสุนัขที่อาศัยอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี ได้รับโภชนาการที่ถูกต้อง และได้รับการออกกำลังกายเป็นประจำ
4. สุภาพ เรียบร้อย ใจดี (ถ้าเป็นสุนัขที่ดื้อและไม่ค่อยให้ความร่วมมือขณะบริจาคเลือด อาจจำเป็นต้องใช้ยาซึม)
5. สุนัขเพศเมีย ถ้าทำหมันมาแล้วจะดีมาก

ในการถ่ายเลือดและให้เลือด คงต้องเป็นหน้าที่ของสัตวแพทย์เป็นผู้ปฏิบัติ โดยต้องตรวจหากรุ๊ปเลือดที่เป็นอันตรายกับผู้รับ และนำเลือดของผู้รับกับผู้ให้บริจาคมาตรวจดูว่าเข้ากันได้หรือไม่ ซึ่งเรียกว่า Cross Matching วิธีการเหล่านี้ต้องทำในห้องปฏิบัติการ ส่วนอุปกรณ์การถ่ายเลือดนั้นก็คล้ายๆ กับของคน คือ ถุงเก็บเลือด สารกันเลือดแข็งตัว และสายยางสำหรับให้เลือด พร้อมที่กรองเลือด

บางครั้งในการบริจาคเลือดเพื่อช่วยชีวิตสัตว์แบบฉุกเฉิน อาจต้องใช้ผู้บริจาค 2-3 ราย เพราะไม่แน่เสมอไปว่าเลือดของผู้ให้และผู้รับจะเข้ากันได้ จึงควรสำรองเอาไว้ล่วงหน้า สำหรับสัตว์ที่มีปัญหาตกเลือด อันเนื่องมาจากภาวะเกร็ดเลือดแข็งตัว การถ่ายเลือดจากผู้บริจาคใหม่ๆ จะช่วยได้เป็นอย่างมาก (เกร็ดเลือดมีผลต่อกลไกการแข็งตัวของเลือด โดยปกติเกร็ดเลือดจะสลายตัวเร็วมาก ใช้เวลาประมาณ 1 วัน เมื่อถ่ายออกมาจากตัวผู้บริจาค) โดยทั่วๆ ไปเราสามารถเก็บสำรองเลือดไว้ใช้ได้ถึง 3 สัปดาห์ โดยจะเก็บไว้ที่อุณหภูมิ 5 องศาเซลเซียส

ในการถ่ายเลือดให้กับผู้ป่วย ก่อนให้ทุกครั้งจะต้องทำการตรวจดูว่าเลือดของผู้ให้และผู้รับเข้ากันได้หรือไม่ ถึงแม้ว่าการถ่ายเลือดครั้งแรกมักจะไม่ก่อให้เกิดปัญหาก็ตาม (เพราะร่างกายของผู้รับยังไม่มีภูมิต้านทาน Antibody ต่อตัวผู้ให้) ทำให้การถ่ายเลือดในครั้งที่สองไม่ประสบผลสำเร็จ

ส่วนอายุของเลือดที่ได้รับบริจาค ถ้าเป็นเลือดหมู่เดียวกันมักจะอยู่ได้ยาวนาน แต่ถ้าเป็นเลือดคนละหมู่มักจะมีอายุสั้นและลดลงอย่างรวดเร็ว

จาก น.ส.พ. อภิชาติ จิรัฐติกาลกิจ
ร.พ. สัตว์เจริญสุข


Copyright 2002 by bokbokclub.cjb.net All rights reserved Email K_chananyu@yahoo.com