โรคแท้งติดต่อในสุนัข

ผศ.สพ.ญ.ดร.เกษกนก ศิรินนฤมิตร

สวัสดีค่ะท่านผู้อ่านที่เคารพ ดิฉันเป็นนักเขียนหน้าใหม่สำหรับสื่อรักสัตว์เลี้ยง คุณหมอธานินทร์ซึ่งเป็นเพื่อนรุ่นเดียวกัน แนะนำให้ดิฉันลองเขียนเกี่ยวกับโรคนี้ให้ผู้อ่านได้รับทราบ เพราะเป็นโรคที่ค่อนข้างอันตราย และที่สำคัญคือเป็นโรคที่สามารถติดต่อสู่คนได้ สำหรับโรคแท้งติดต่อนี้นะคะ เราได้ยินกันมานาน ก่อนที่ดิฉันจะไปศึกษาต่อต่างประเทศ เมื่อ 6-7 ปีก่อนก็ยังมีการตั้งคำถามขึ้นมาว่าจะมีโรคนี้ในประเทศไทยหรือไม่ ตั้งแต่ดิฉันกลับจากการศึกษาต่อได้ประมาณ 1 ปี และได้มีโอกาสคลุกคลีกับกลุ่มผู้เลี้ยงสุนัขต่างๆ รวมทั้งปัจจุบันมีห้องปฏิบัติการที่สามารถตรวจวินิจฉัยได้แน่นอน ทำให้ดิฉันยืนยันได้ว่า โรคนี้ได้เริ่มระบาดขึ้นแล้วจริงๆ ในประเทศไทย

คำว่า “แท้ง” ใครๆ ก็กลัวคำนี้ โดยเฉพาะกลุ่มฟาร์มที่เลี้ยงสุนัข เพราะนั่นหมายถึง การสูญเสียลูกสุนัขในวงรอบการเป็นสัดนี้ และอาจต้องรออีกอย่างน้อย 5-6 เดือน เพื่อรอการผสมพันธุ์ในวงรอบการเป็นสัดต่อๆ ไป แต่คำว่า “แท้งติดต่อ” นี่สิน่ากลัวกว่าหลายเท่า เพราะไม่เพียงเกิดการแท้งในแม่สุนัขตัวนี้เท่านั้น ยังสามารถติดต่อ ไปยังพ่อพันธุ์ที่มาผสมด้วย และยังสามารถติดต่อไปยังสุนัขตัวอื่นๆ ในฟาร์มเดียวกัน และฟาร์มที่เกี่ยวข้องกลายเป็นลูกโซ่ที่ตามแก้กันไม่ไหว และที่สำคัญคือ สามารถติดต่อ ไปสู่คนเลี้ยงที่เป็นผู้ใกล้ชิด ดูแลสุนัข และสมาชิกทุกคนในบ้านที่มีโอกาสคลุกคลี สัมผัสกับสุนัขที่เป็นโรคนี้

สาเหตุและอาการ
โรคแท้งติดต่อเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ชื่อว่า บรูเซลล่า เคนีส (Brucella canis) โรคนี้จะถูกเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า บรูเซลโลซีส (Brucellosis) และอาจเรียกสั้นๆ ว่า โรค “บรู” ได้ เชื้อนี้ถูกค้นพบครั้งแรกในช่วงปี ค.ศ. 1966 ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งพบว่าเชื้อนี้เป็นสาเหตุของการแท้ง และทำให้เกิดความไม่สมบูรณ์พันธุ์ในฟาร์มสุนัขฟาร์มหนึ่ง ต่อมาก็พบการระบาดของเชื้อนี้ในประเทศอื่นๆ เกือบทั่วโลกอาการของสุนัขที่เป็นโรคนี้นะคะ อาจก่อให้เกิดปัญหาความไม่สมบูรณ์พันธุ์ทั้งแม่ หรือพ่อพันธุ์สุนัขที่ติดเชื้อนี้ แม่พันธุ์สุนัขอาจมีปัญหาเรื่องผสมไม่ติด หรืออาจผสมติด แต่มีการตายของลูกในท้อง ระยะแรกของการตั้งท้อง และถ้าแม่สุนัขสามารถตั้งท้องต่อไป ก็พบอาการแท้งลูกสุนัขออกมา ในช่วงการตั้งท้องประมาณ 45 วันขึ้นไป ซึ่งอาจแท้งออกมาหมดทุกตัว หรือเหลือรอดบางตัว และสามารถอยู่จนครบกำหนดคลอด แต่ลูกที่คลอดออกมาก็มักจะตายใน 1 สัปดาห์แรก หรือตายก่อนหย่านม แม่สุนัขบางตัวอาจพบมีสิ่งคัดหลั่ง ออกมาจากช่องคลอด แม่สุนัขบางตัวอาจไม่พบอาการป่วยเลย ยกเว้นมีแต่อาการแท้งเท่านั้น ส่วนพ่อพันธุ์สุนัขที่ติดโรคนี้ จะก่อให้เกิดปัญหาการผสมไม่ติด อาจมีการอักเสบของถุงห้มอัณฑะ ท่อนำน้ำเชื้ออักเสบ และอาจเกิดการบวมขยายใหญ่ของอัณฑะข้างใดข้างหนึ่ง หรือทั้งสองข้าง ถ้าเป็นโรคนี้อย่างเรื้อรัง จะก่อให้เกิดการฝ่อแฟบของลูกอัณฑะร่วมด้วย พ่อพันธุ์บางตัว อาจพบมีการบวมขยายใหญ่ของต่อมน้ำเหลือง หรือต่อมลูกหมากร่วมด้วย น้ำเชื้ออสุจิจะมีคุณภาพไม่ดี สุนัขที่เป็นโรคนี้ ส่วนใหญ่จะไม่พบอาการป่วยของระบบอื่นๆ ให้เห็น ดูๆ ไปก็เป็นสุนัขที่ร่างกายแข็งแรงดี ยกเว้น มีปัญหาองระบบสืบพันธุ์ ที่กล่าวมาแล้วค่ะ

ส่วนในคนที่ติดโรคนี้นะคะ จากรายงานจะพบในคนที่ทำงานในห้องปฏิบัติการ ที่เกี่ยวข้องกับเชื้อแบคทีเรียตัวนี้ หรือในคนเลี้ยงสุนัขที่อยู่ใกล้ชิดคลุกคลีกับสุนัขที่เป็นโรคนี้ อาการในคนที่ป่วยโรคนี้ไม่แน่นอน อาจไม่แสดงอาการเลย หรือแสดงอาการมีไข้ขึ้นๆ ลงๆ โดยไม่ทราบสาเหตุ อาจพบอาการตัวสั่น ปวดศีรษะร่วมด้วย แต่ไม่ต้องตกใจ มากนะคะ เพราะในคนโรคนี้ สามารถรักษาให้หายขาดได้โดยใช้ยาปฏิชีวนะ แต่ในสุนัขโรคนี้ไม่สามารถรักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะ การรักษาด้วยยาปฏิชีวนะในสุนัขนั้น เพียงแต่ช่วยควบคุม ปริมาณเชื้อในกระแสเลือดเท่านั้น เมื่อไหร่ที่หยุดกินยา เชื้อก็สามารถเพิ่มจำนวนได้ และเชื้ออาจอยู่ในตัวสุนัขเป็นปีได้

การติดต่อของโรค
เชื้อนี้นะคะ สามารถติดต่อผ่านทางเยื่อเมือกทุกส่วนของร่างกาย โดยการกินเป็นวิธีหลักของการติดต่อโรคนี้ค่ะ หมายถึงว่า สิ่งคัดหลั่งได้แก่ น้ำจากช่องคลอด อาจเป็นในช่วงเป็นสัดหรือไม่ก็ตาม น้ำนม น้ำคล่ำ เนื้อเยื่อลูก รกที่แท้งออกมา น้ำอสุจิ น้ำปัสสาวะจากสุนัขทั้งตัวผู้ และตัวเมียที่เป็นโรคปนเปื้อนอยู่กับพื้นคอก, พื้นบ้าน หรือปนเปื้อนในอาหาร น้ำ สุนัขอื่นที่เลี้ยงรวมกันหรือเลี้ยงปล่อย ก็มีโอกาสสัมผัสกินสิ่งที่ปนเปื้อนนี้ก็ติดโรคได้ค่ะ การเลียบริเวณอวัยวะเพศของสุนัขด้วยกัน ทั้งเพศผู้ เพศเมียในช่วงเป็นสัด ก็ทำให้ติดโรคนี้ได้นะคะ ส่วนวิธีติดรองลงมา คือ จากการผสมพันธุ์ อย่างที่กล่าวแต่แรกนะคะว่า สิ่งคัดหลั่งจากช่องคลอด ในสุนัขเพศเมีย หรือน้ำอสุจิจากสุนัขเพศผู้ ที่เป็นโรคมีเชื้อแบคทีเรียออกมาด้วย ดังนั้นการผสมพันธุ์ก็เป็นวิถีทางที่ทำให้เกิดการติดต่อโรคโดยตรง ระหว่างสุนัขเพศผู้และเพศเมีย

การวินิจฉัยโรค
อย่างที่กล่าวมาแล้วนะคะ ถ้าพบอาการเรื่องความไม่สมบูรณ์พันธุ์ การผสมไม่ติด การแท้ง การอักเสบของถุงหุ้มอัณฑะ หรืออัณฑะ ควรรีบปรึกษาสัตวแพทย์ด่วนเลยนะคะ โดยสัตวแพทย์จะซักประวัติ อาการและต้องเจาะเลือดเพื่อตรวจหาเชื้อนี้ต่อไปค่ะ

การควบคุมและป้องกันโรค
โรคนี้ในสุนัขไม่มียารักษา และไม่มีวัคซีนในการป้องกันโรคเลย วิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันโรค คือ พยายามอย่าให้สุนัขเราคลุกคลีกับสุนัขอื่น ยิ่งเป็นการเลี้ยง ในระดับฟาร์มแล้ว โอกาสสัมผัสติดต่อกับสุนัขอื่นนอกฟาร์ม เป็นไปได้สูงมาก ไม่ว่าจะมาจากการผสมพันธุ์ หรือจากการพบปะสุนัขอื่นในสนามประกวดสุนัขก็ตาม ถ้าเป็นไปได้นะคะ โอกาสที่จะลดการติดโรคนี้คือ ทั้งพ่อและแม่พันธุ์สุนัขควรมีใบตรวจสุขภาพว่า ปลอดจากโรคนี้จากสัตวแพทย์ก่อน ค่อยให้ผสมพันธุ์ด้วยกัน ส่วนในสุนัขตัวที่เป็นโรคนี้นะคะมี 2 วิธีที่ดี ในการควบคุมโรคนี้ วิธีแรก คือ การฉีดยาให้หลับ เพื่อไม่ให้แพร่โรคต่อไปได้ หรือวิธีที่สอง คือ การทำหมันทั้งในเพศผู้ และเพศเมีย วิธีที่สองนี้จะช่วยลดการแพร่ของโรคนี้ได้มาก แต่ไม่ 100% และควรแยกเลี้ยงต่างหากโดยไม่ให้ปะปนกับพ่อและแม่พันธุ์สุนัขอื่นในฟาร์ม เพราะยังมีโอกาสแพร่เชื้อได้ แต่น้อยมาก และที่สำคัญไม่ควรขายสุนัขที่เป็นโรคนี้ให้กับฟาร์มอื่น เพราะจะทำให้การแพร่ของโรคเป็นไปมากขึ้น ซึ่งทำให้การควบคุมโรคทำได้ลำบากขึ้นท่านผู้อื่นอ่านดูแล้วก็อาจนึกกลัวว่าโรคนี้เป็นโรคที่ค่อนข้างร้ายแรงก่อให้เกิดการสูญเสียในฟาร์มสุนัขได้ และที่สำคัญคือสารถติดต่อสู่คนได้ แต่ถ้าเราพยายามช่วยกัน ควบคุมและป้องกันโรคนะคะ โรคนี้ก็ไม่น่ากลัวเลยค่ะ และโอกาสที่ติดโรคนี้ก็จะน้อยมากค่ะ


Copyright 2002 by bokbokclub.cjb.net All rights reserved Email K_chananyu@yahoo.com